ศาลใช้กำไลข้อเท้าโจ๋ซิ่ง-เมาแล้วขับ

ศาลแขวงพระนครเหนือประกาศนำร่องใช้เครื่องมือควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับผู้กระทำความผิดแทนการคุมประพฤติ เริ่มจากคดีเมาแล้วขับ กับคดีแข่งรถบนถนนสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

ศาลเอาจริง จับพวกเมาแล้วขับ-แข่งซิ่ง สวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ที่ข้อเท้า นอนอยู่กับบ้าน สี่ทุ่ม-ตีสี่ 7 วัน ถ้ายังดื้อด้านต้องรับโทษจำคุกที่รอลงอาญาไว้

เมื่อวันที่ 6 มีนาคมนี้ นายสุรจิตร ศรีบุญมา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงพระนครเหนือ เปิดเผยว่า ตามที่ศาลแขวงพระนครเหนือได้จัดโครงการสัมมนาวิชาการ เรื่องแนวทางปฏิบัติการใช้กฎหมายเพื่อการพิจารณาคดีอย่างมีประสิทธิ ภาพ เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ จ.ชลบุรี โดยมี น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม และคณะผู้บริหารกรมคุมประพฤติเข้าร่วมสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำเครื่องมือควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (EM) มาใช้กับผู้กระทำความผิด ขณะนี้ศาลแขวงพระนครเหนือมีความพร้อมที่จะนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้กับผู้กระทำผิดเป็นศาลนำร่องแห่งแรก โดยเริ่มจากคดีเมาแล้วขับ กับคดีแข่งรถบนถนนสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต

นายสุรจิตรกล่าวว่า คดีลักษณะเช่นนี้ แต่เดิมศาลจะมีคำพิพากษาจำคุก แต่ให้รอลงอาญาไว้ กับให้คุมประพฤติด้วยการบำเพ็ญประโยชน์หรือบริการสังคม 24 ชั่วโมง ซึ่งตนได้ศึกษาพฤติกรรม อุปนิสัย สิ่งแวดล้อม ของผู้กระทำผิดเหล่านี้ เห็นว่ามักไม่ค่อยอยู่บ้านกับครอบครัวในช่วงเวลากลางคืน แต่ไปกินเที่ยวตามสถานบันเทิงจนเกิดคดี “เมาแล้วขับ” หรือไม่ก็ไปจับกลุ่มแข่งรถบนท้องถนนในยามวิกาล กระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อคำนึงถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัวแล้ว เห็นว่าควรแก้ไขผู้กระทำผิดเหล่านี้ด้วยการจำกัดเวลาออกจากบ้าน ตั้งแต่ช่วงเวลา 22.00-04.00 น. โดยใช้อุปกรณ์อีเอ็ม (กำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์)

ทั้งนี้ เมื่อจำเลยถูกฟ้องต่อศาล แล้วศาลมีคำพิพากษาจำคุก แต่ให้รอลงอาญา ศาลจะไม่ให้จำเลยเหล่านี้ที่กระทำผิดบำเพ็ญประโยชน์หรือบริการสังคมเหมือนเช่นเคย แต่ศาลจะกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติใหม่ด้วยการให้จำเลยคนนั้นหรือผู้กระทำผิดสวมใส่อุปกรณ์อีเอ็มที่ข้อเท้าแทน และห้ามออกนอกเคหสถานช่วงเวลา 22.00-04.00 น. เป็นเวลา 7 วัน ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกำไลข้อเท้า มีเครื่องรับ-ส่งสัญญาณขนาดเท่าเครื่องเพจเจอร์ ส่งไปที่กรมคุมประพฤติ ถ้าจำเลยที่สวมอุปกรณ์นี้ฝ่าฝืนเงื่อนไข เช่น ออกนอกบ้านในเวลาห้าม ก็จะมีเสียงเตือนให้หยุดการกระทำ หรือถ้าจำเลยหรือมีผู้ใดทำลายอุปกรณ์ดังกล่าวด้วยการตัดสายรัดข้อเท้า ก็ไม่สามารถนำมาประกอบได้ตามเดิม ทำให้รู้ว่ามีการฝ่าฝืนคำสั่ง จำเลยคนนั้นจะต้องรับโทษตามคำพิพากษาของศาลที่รอลงอาญาไว้ โดยเบื้องต้นศาลแขวงพระนครเหนือเริ่มนำอุปกรณ์มาใช้แล้ว 200 เครื่อง คาดว่าจะเป็นผลดีต่อการควบคุมพฤติกรรมผู้กระทำผิดต่อไป.

ถ้าจำเลยที่สวมอุปกรณ์นี้ฝ่าฝืนเงื่อนไข เช่นออกนอกบ้านในเวลาห้าม ก็จะมีเสียงเตือนให้หยุดการกระทำ หรือถ้าจำเลยหรือผู้ใดทำลายอุปกรณ์ดังกล่าวก็สามารถตรวจจับได้

ที่มา : X-cite ไทยโพสต์ 8 มี.ค.2557

บทความที่เกี่ยวข้อง