สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ด้วย (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ

ถ้าใครได้ติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับสังคมไทยในอนาคตคงจะพอทราบว่า ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว หมายความว่า บ้านเราจะมีคนสูงอายุมากกว่าคนวัยทำงาน ซึ่งหากรัฐไม่เตรียมจัดการเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนนี้ ผมคาดว่าปัญหาหลายอย่างจะตามมาในอนาคต เช่น คนสูงอายุไม่มีคนดูแล หรือขาดแคลนปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต และแม้ว่าปัจจุบันจะมี “เบี้ยยังชีพ” ให้กับคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ก็พบว่า เบี้ยดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีว่า คณะทำงานปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศ ไทย ซึ่งเป็นคณะทำงานภายใต้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เห็นว่าเบี้ยยังชีพในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อรายจ่ายของผู้สูงอายุ จึงเห็นชอบว่าควรยกระดับเบี้ยยังชีพให้เป็น “บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” เพื่อเป็นหลักประกันด้านรายได้ให้กับทุกคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นการการันตีว่า เมื่อถึงวันนั้น แม้จะไม่มีลูกหลานส่งเสียเลี้ยงดู ผู้สูงอายุก็จะมีข้าวกิน ไม่อดตาย แต่จะมีข้าวกินครบ 3 มื้อหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่า จะจ่ายบำนาญแห่งชาติให้เท่าไหร่ต่อ เดือน

โดยหลักการ บำนาญแห่งชาติเป็นเรื่องที่ดีมากครับ แต่โดยวิธีการอาจจะต้องมานั่งคิดรายละเอียดกันจริงๆ เพราะหลายค่าย หลายสาย ต่างก็ถกเถียงว่า ถ้ามีระบบบำนาญแห่งชาติ ประเทศจะไปไม่รอดเพราะต้องใช้เงินเยอะมาก เรื่องนี้ผมคิด ว่ารัฐบาลจะต้องกล้าตัดสินใจในเบื้องต้นก่อนครับว่าจะ “ซื้อ” หรือ “ไม่ซื้อ” วิธีคิดเรื่องการมีระบบบำนาญแห่งชาติ

ถ้า “ซื้อ” ก็เดินหน้าเลยครับ แล้วมาคิดรายละเอียดกันว่า หนึ่ง…จะพัฒนาระบบภาษีอย่างไรเพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอต่อการจ่ายบำนาญแห่งชาติให้กับผู้สูงวัยทุกคน จะเป็นภาษีมรดก ภาษีบ้าน ภาษีที่ดิน หรือภาษีอะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องกล้าฟันธงครับ สอง…ต้องกล้าตัดสินใจว่าบำนาญแห่งชาติที่จะให้ผู้สูงอายุนั้นควรเป็น “เท่าไหร่” ต่อเดือน นักวิชาการบางสายระบุว่าควรอยู่ที่ 1,400 บาท/เดือน โดยพิจารณาจากเส้นความยากจนi ในขณะที่ภาคประชาชนเสนอที่ 2,500 บาท/เดือน ด้วยเหตุผลว่าเส้นความยากจนจะขยายฐานขึ้นมากกว่า 1,400 บาทแน่ในอนาคต

ตัวเลขที่ไม่ตรงกันแบบนี้ก็ต้องการให้รัฐบาลตัดสินใจครับ โดยยึดหลักว่าจะให้เท่าใดนั้นก็ต้องเพียงพอต่อการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพของผู้สูงวัยด้วย

นอกจากความกล้าตัดสินใจที่จะซื้อและพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติแล้ว สิ่งที่รัฐต้องทำควบคู่ไปด้วยคือการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำหลังอายุ 60 ปี จริงๆ แล้วคนอายุ 60 ปีนี่ยังไม่แก่นะครับ ยังทำงานได้และทำได้ดีเสียด้วย แต่ก็น่าเสียดายว่าบ้านเราให้เกษียณหรือเลิกจ้างเมื่ออายุ 60 ปี ทั้งๆ ที่องค์การอนามัยโลกขยายฐานอายุวัยชราเป็น 70 ปีแล้ว ถ้าเรายังยึดตัวเลขที่ 60 ปีอยู่ก็น่าเสียดายกำลัง/แรงงานที่ต้องสูญเสียไปในการพัฒนาประเทศ

สำหรับเรื่อง “การออม” ซึ่งถูกพูดถึงกันอย่างมากว่าต้องออมวันนี้เพื่อเก็บเงินไว้ใช้ในยามสูงวัย จริงๆ แล้ว การออมถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เรามีเงินใช้หลังเกษียณ แต่เรื่องนี้ก็เกี่ยวโยงถึงเรื่องรายได้ด้วยครับ เพราะถ้าเราไม่มีรายได้ที่เพียงพอก็จะเกิดการออมไม่ได้ ดังนั้น รัฐอาจจะต้องส่งเสริมให้คนทำงานมีรายได้ที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายและเหลือเก็บออมไว้ใช้ยามสูงวัย

ทั้งนี้ รัฐจะต้องพัฒนาระบบการออมและส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มกันออมในระดับชุมชน ไม่ว่าจะในรูปแบบสหกรณ์หรือสัจจะออมทรัพย์ ถ้าในวัยทำงานเรามีเงินออมส่วนหนึ่ง เมื่อสูงวัยทำงานไม่ได้แล้วก็ได้รับเบี้ยบำนาญซึ่งเป็นสวัสดิการ เงิน 2 ก้อนนี้รวมกันก็จะเพียงพอต่อรายจ่ายในแต่ละเดือน

เราทุกคนต้องถึงวัยชรา ต้องถึงวันซึ่งอาจจะไม่มีรายได้แล้ว ถ้าวันนี้ยังไม่มีระบบบำนาญแห่งชาติ ชีวิตในวัยสูงอายุของเราคงดำเนินไปอย่างไม่มีคุณภาพ ดังนั้น ผมขอเชิญชวนให้พวกเราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ใน “วัยไหน” ก็ตาม ร่วมกันผลักดันให้ระบบบำนาญแห่งชาติเกิดขึ้นจริงในสังคมบ้านเรา

โดย นิมิตร์ เทียนอุดม

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ระวังคุณภาพยาที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ

admin 6 เมษายน 2019

นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรว […]

เลิกใช้สารเคมี-ฟื้นฟูคุณภาพดิน

admin 5 เมษายน 2019

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและส […]

ผึ้งโพรงอพยพลงจากเขาให้น้ำผึ้งคุณภาพ

admin 5 เมษายน 2019

นายดนเหร๊าะหมาน นุ่มอุ้ย ประธานกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง ต.แม […]