เต็มใจรักและตั้งใจเลี้ยง

“มันไม่ใช่หน้าที่ หรือความรับผิดชอบที่เราต้องมา แต่มันเป็นความรู้สึก บอกไม่ถูกเหมือนกันครับ มันคิดถึง มันผูกพัน อยากเจอ อยากมาหาเขา อยากมาเล่นด้วย อยากมาดูแลเขาน่ะ”
หนึ่ง สอง สาม อึ๊บ เฮ้ย!! ฮ่า ฮ่า ฮ่า

ภาพที่ปรากฏให้เห็นคือ เด็กผู้หญิงตัวน้อย ๆ กำลังปีนขึ้นไปบนตัวของชายหนุ่ม อันเป็นเสมือนต้นไม้สูงใหญ่ที่ท้าทายความสามารถ โดยใช้แขนเป็นที่ยึดเกาะให้มีแรงปีน เมื่อไปถึงยอดไม้ (ยอด-อก)เด็กหญิงก็ทิ้งตัวตีลังกา โดยมีแขนของชายหนุ่มประคองไว้ด้วยความห่วงใย

เสียงหัวเราะของคนทั้งสอง บอกถึงความสนุกสนานในการเล่นตีลังกา อย่างที่คนรอบข้างสัมผัสได้ ใครจะไปคิดว่า ภาพและเสียงที่ว่านี้เกิดขึ้นหน้าตึกแปด ของสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด จ.นนทบุรี

คุณป๋อง นนทวุฒิ ปรีชาวุฒิ นักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เล่าถึงที่มาของการได้มาเลี้ยงน้องให้ฟัง ว่าเกิดจากความบังเอิญ เพราะจริง ๆ แล้วคนที่เลี้ยงมาก่อนก็คือคุณป๊อบแฟนของคุณป๋องนั่นเอง “ตอนแรกแฟนผมเขาเป็นคนเลี้ยงน้อง ชื่อน้องไอ ส่วนผมก็มาเป็นเพื่อน มาอยู่บ่อย ๆ ก็เห็นละว่าน้องน่ารัก แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าจะเลี้ยงน้องตั้งแต่แรก พอดีวันที่ได้เริ่มเลี้ยงน้องคือแฟนผมเขามาช้า ผมมารอที่นี่ (สถานสงเคราะห์ฯ) แต่เขายังไม่มา เจ้าหน้าที่เขาก็เลยให้ผมไปรับน้องแทน เพราะมันได้เวลาแล้ว ก็เลยไปรับมาครับ แล้วพอแฟนมา เขามาเล่นจ๊ะเอ๋กับน้อง แต่น้องตกใจ เลยไม่ยอมให้แฟนผมอุ้มเลย”

แม้ในตอนแรก คุณป๋องจะเป็นอาสาสมัครระยะสั้น (ปี ๕๑) แต่ต่อมาก็กลายเป็นอาสาสมัครระยะยาว และมาดูน้อง ๒ วัน คือวันพฤหัส (ช่วงเช้า) และวันอาทิตย์ (ช่วงบ่าย) ซึ่งเป็นเวลาที่ว่างจากภาระอื่น ๆ ทั้งการเรียนและงานส่วนตัวต่าง ๆ

ความผูกพันที่เกิดกับน้องไอเป็นประสบการณ์ที่ได้รับจากการช่วยเลี้ยงน้องเป็นครั้งแรก และเมื่อตัดสินใจเป็นอาสาสมัครระยะยาวแล้ว คุณป๋องจึงได้รับมอบหมายให้ดูแลน้องคนต่อมา ซึ่งก็คือ สาวน้อยคนที่กำลังปีนป่ายคุณป๋องราวกับเห็น “พี่” เป็นของเล่นที่มีชีวิตนี่แหละ “รินีนี่เป็นคนที่ ๒ ครับ ถัดจากไอซ์ แต่ผมเริ่มเลี้ยงน้องชารินีตอนอายุขวบ ๒ เดือน คือตอนนั้นเขาโตกว่าไอซ์ จึงเข้ากับคนยากกว่า กว่าจะยอมให้กอดให้เล่น ผมต้องใช้เวลาเกือบ ๓ เดือน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องห่วง มาถึงต้องกอดกันก่อนเลย ๑๕ นาทีเป็นอย่างน้อย แล้วหลังจากนั้นค่อยว่ากันอีกทีว่าจะเล่นหรือจะกิน หรือจะทำอะไรต่อ”

แม้ดูพี่กับน้องคู่นี้จะเล่นกันแบบเด็กผู้ชาย แต่ใบหน้าแต้มยิ้มของน้องรินี ยืนยันได้ถึงความสุข และสนุกสนานที่เธอได้รับ บางทีก็ยิ้มอาย ๆ เขิน ๆ ให้ 1 ที บางทีก็หัวเราะเสียงดังเมื่อโดนพี่แหย่เย้า หรือจั๊กกะจี้

“เดี๋ยวนี้เป็นสาวแล้ว เริ่มมีอาการเขินอายแล้ว เมื่อก่อนเขาจะเงียบมาก คือรู้ว่าเป็นเรา จำได้ วิ่งมาหา แต่ไม่ค่อยคุย เลี้ยงเขามาครึ่งปี ก็เห็นนะว่าเขาเปลี่ยนไปมากเลย แรก ๆ จะเงียบ ไม่ค่อยพูด แต่เดี๋ยวนี้พูดเก่ง ทำอะไรเองได้เอง ใส่เสื้อผ้า กินข้าวเอง แต่ยังขี้อ้อนเหมือนเดิม”
ความแตกต่างระหว่างน้องไอและน้องรินี คืออายุ และลักษณะเฉพาะตัว น้องไอติดคนง่าย น้องรินีเงียบซึมกว่า แต่เวลาเล่นด้วยกัน น้องรินีจะชอบเล่นแบบเด็กผู้ชาย เช่น ตีลังกา เล่นแหย่กันแรง ๆ และเป็นเด็กร่าเริง ซึ่งทั้ง ๒ คน มีสิ่งที่ทำให้คุณป๋องประทับใจเหมือนกัน คือความเป็นธรรมชาติของเด็ก

ความอ่อนโยนในหัวใจ มุมใหม่ ๆ ที่ได้ค้นพบ
“ผมไม่ได้คิดว่ามันเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่อะไร แต่มันเป็นอะไรที่บอกไม่ได้ มันได้ทำเพื่อคนอื่น เพื่อเด็ก ซึ่งเขาไม่ได้ต้องการอะไรมาก แค่การกอด การอุ้ม ซึ่งเราให้เขาได้ง่ายมาก มันเหมือนเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว แต่มันมีผล คือมันดีต่อเด็ก ทำให้เด็กมีเพื่อน มีความสุข แต่มันก็ดีกับคนที่มา อย่างผม ได้รู้ว่าตัวเองมีมุมนี้ มุมที่อยากให้ มุมอ่อนโยนซึ่งเราไม่เคยแสดงออก ไม่เคยคิดว่าจะมี หรือจะต้องเอามาให้ใคร เหมือนกับว่าเราเองก็เปลี่ยนไป เมื่อก่อนเราไม่ได้ต้องการความอ่อนโยน หรือไม่ได้สัมผัสมัน แต่พอมาอยู่กับน้อง เราเห็นว่าเขาต้องการมัน และพอเราให้ได้ เรารู้ว่าเรามีสิ่งนั้น เรามีมุมนี้ด้วย เออ เราก็อ่อนโยนเหมือนกันนะ คือเราอยากให้ อยากดูแลเขา มันไม่ใช่สิ่งที่เราเตรียมตัว เตรียมใจมาให้เขา แต่ มันเกิดขึ้นมาเองเมื่อเราได้อยู่กับเขา ได้ดูแลเขา ซึ่งถ้าไม่มาก็อาจไม่รู้ว่าเรามีมุมนี้”

สิ่งที่คุณป๋องอธิบาย อาจจะฟังดูยาก แต่หากได้เห็นเวลาที่อยู่กับน้อง เราจะเห็นถึงความผูกพัน และความอ่อนโยนที่ว่านี้ แม้จะเป็นการเล่นตีลังกา หรือการเล่นเหวี่ยงชิงช้าก็ตามที คุณป๋องย้ำว่า ทุกวันนี้ยังคงมาเลี้ยงน้อง ๒ วันต่อสัปดาห์อย่างที่เคยทำมา แม้บางวันจะมาสายไปบ้างแต่ก็ต้องมา

“มันไม่ใช่หน้าที่ หรือความรับผิดชอบที่เราต้องมา แต่มันเป็นความรู้สึก บอกไม่ถูกเหมือนกันครับ มันคิดถึง มันผูกพัน อยากเจอ อยากมาหาเขา อยากมาเล่นด้วย อยากมาดูแลเขาน่ะ”
“ผมว่าคนที่อยากมา แต่ไม่มา เขาอาจมีอะไรในใจ หรือสร้างกำแพงอะไรบางอย่าง เช่น เรามาเลี้ยงเด็กมันจะดูเป็นคนอ่อนแอไปหรือเปล่า อย่างเรามันต้องไปทำค่าย สร้างโรงเรียน ฯลฯ อะไรพวกนี้ไหม หรือว่าบางคนอาจจะกลัว โอ๊ย เราทำไม่ได้หรอก เลี้ยงเด็ก เลี้ยงไม่เป็น อะไรก็ตาม คือถ้าใครอยากทำประโยชน์อย่างอื่น มันก็มีทางเลือกให้ทำอีกมาก ทำค่ายก็ไม่ใช่ไม่ดี แต่การได้มาเลี้ยงน้องก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งก็แล้วแต่คนชอบครับ”

ทิ้งท้ายไว้อย่างให้อิสระ ราวกับจะบอกว่า ชอบไม่ชอบก็ให้มาลองดูก่อน ถ้าไม่ชอบก็ไม่ว่ากัน แต่หากลองแล้วอาจจะติดใจน้องเหมือนที่คุณป๋องกำลังเป็นอยู่ก็เป็นได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ของขวัญปีใหม่ ด้วยใจอาสา

admin 19 มิถุนายน 2019

ดูรายละเอียด การสมัครเป็นอาสาสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคร […]

ทศวรรษฉลาดทำบุญ กับคุณค่าต่อสังคม

admin 19 มิถุนายน 2019

งาน 10 ปี โลก(จิต)อาสา : ทศวรรษฉลาดทำบุญกับคุณค่าต่อสัง […]