เรื่องของ “แม่ก๋ำเดือน” (2)

เคยได้ยินว่า หากแม่หลังคลอดไม่อยู่ไฟ ต่อไปอาจจะทำให้สุขภาพไม่แข็งแรง ป่วยได้ง่าย เลือดลมไม่ดี

ภูมิปัญญาของคนโบราณไม่ใช่ความเชื่อแบบไร้เหตุผล  แต่เป็นเรื่องของแพทย์พื้นบ้าน เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์

การอยู่เดือนไฟ  เป็นการใช้ความร้อนเพื่อขับพิษออกจากร่างกาย เนื่องจากขณะที่ตั้งครรภ์ร่างกายมีการสะสมพิษไว้ โดยเฉพาะน้ำคร่ำ น้ำคาวปลา จำเป็นต้องขับออกจากมดลูกให้หมดเพื่อไม่ให้ตกค้างภายในมดลูก  การขับน้ำคาวปลา น้ำคร่ำจึงต้องพิถีพิถัน เพื่อให้เลือดลมไหลเวียนดี  ขับของเสียออกจากร่างกายผ่านทางผิวหนัง ผ่านทางช่องคอลด ด้วยการผิงไฟตลอดทั้ง 1 เดือน

ไฟเป็นยาชนิดหนึ่ง ช่วยในการขับพิษผ่านทางเหงื่อ ผ่านทางช่องคลอด ทำให้เลือดลมไหลเวียนได้มากขึ้น

คนล้านนายังเชื่ออีกว่า การอยู่เดือนไฟหลังคลอดจะช่วยป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนหลังคลอด รวมถึงโรคที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีอายุสูงขึ้นด้วย คือ หากไม่อยู่เดือนไฟจะเกิดอาการ “ผิดเดือน” เมื่ออายุมากขึ้นอาการผิดเดือนมีอาการจากเลือดลมแปรปรวน เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว เห็นฝนตั้งแต่เค้าก็หนาวเข้ากระดูก เหน็บชาตามปลายมือปลายเท้า หงุดหงิดได้ง่าย ปวดหัว เวียนหัวได้ง่าย อารมณ์แปรปรวน ด้วยเหตุนี้คนล้านนาจึงให้แม่หลังคลอดทุกคนอยู่เดือนไฟ

แม่ก๋ำเดือน ควรกินอาหารตามฤดูกาลพืชผักพื้นบ้านที่เป็นทั้งอาหารและยา  เน้นอาหารเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย เช่น ปลีกล้วยเพิ่มน้ำนม หน่อไพลจิ้มกับน้ำพริกดำช่วยขับลมในท้อง หรือน้ำต้มสมุนไพรเพิ่มน้ำนม เป็นต้น งดอาหารแสลงโดยเฉพาะพืชผักผลไม้ที่มีรสเย็น ปลาบางชนิด อาหารบางประเภท ที่ส่งผลกระทบกับระบบเลือดลมของแม่ก๋ำเดือน

การนั่งและนอน  ควรอยู่ในท่านั่งกึ่งนอน ไม่นอนราบกับพื้น เพื่อให้น้ำคาวปลาไหลได้ดี ไม่ยกขาฉีกขากว้าง เรียกว่าหนีบขาไว้ตลอดเวลาเพื่อให้แผลช่องคลอดหายเร็ว ลมไม่เข้าช่องคลอด การนอนต้องนอนตะแคงผิงไฟให้หน้าท้องหันเข้าเตาไฟ คอยพลิกตัวไปมาเพื่อให้ร่างกายได้กระทบกับความร้อนทั่งทั้งตัว ซึ่งต้องคอยผิงไฟเช่นนี้ตลอด 1 เดือน

แม่ก๋ำเดือนควรรัดหน้าท้อง  ป้องกันมดลูกหย่อน ไม่ให้มดลูกได้รับความกระทบกระเทือนจากการเดิน การเคลื่อนไหวร่างกายวิธีการรัดหน้าท้องของคนล้านนา โดยใช้ผ้าขาวม้ารัดหน้าท้อง ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้มดลูกหย่อนคล้อยเมื่ออายุมากขึ้น ปัจจุบันสามารถนำสมุนไพรมาใช้ร่วมด้วยได้

ข้อควรระวังของการอยู่ไฟ

หากต้องการอยู่ไฟหลังคลอด ควรไปพบแพทย์ผู้ดูแลครรภ์ก่อนทำการอยู่ไฟทุกครั้ง เพื่อปรึกษาถึงวิธีการที่ถูกต้องปลอดภัยและความเสี่ยงเผชิญอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งคุณแม่ที่ต้องการอยู่ไฟหลังคลอดควรตระหนักถึงข้อควรระวังต่าง ๆ ของการอยู่ไฟด้วยเช่นกัน

ข้อควรระวังของการอยู่ไฟของแม่ก๋ำเดือน  พื้นที่ของการอยู่ไฟอากาศถ่ายเทสะดวก มีแสงสว่างเพียงพอ  ควรจิบหรือดื่มน้ำบ่อยๆ ทดแทนน้ำที่เสียไป และเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะขาดน้ำ  หากมีฝีเย็บควรให้รอจนครบ 7 วันก่อนเริ่มอยู่ไฟ เพราะอาจทำให้ไหมละลายได้

ห้ามใช้ฟืนไม้ตาด ฟืนไม้รัก และฟืนไม้แดง เพราะเมื่อนำมาเผาอาจทำให้ไฟแตกกระเด็นเป็นควันแสบตาได้ ซึ่งรวมถึงฟืนไม้เนื้ออ่อน เช่น มะม่วง ขนุน งิ้ว หรือนุ่น เป็นต้น เพราะอาจทำให้เกิดควันมากเกินไป

ที่สำคัญ หากมีอาการอ่อนเพลีย อ่อนล้า หรือเหนื่อยผิดปกติ ควรหยุดการอยู่ไฟหรือปรึกษาหมอ

ยิ่งอ่านยิ่งเข้าใจแล้วว่า การอยู่ไฟ เป็นการดูแลแม่หลังคลอด โดยเฉพาะสุขภาพภายในที่เรามองไม่เห็น

การที่ผู้หญิงดูแลสุขภาพตัวเองแข็งแรง ก็จะดูแลลูกและสมาชิกในครอบครัวต่อไปได้อีกยาวนาน

ความสุขของครอบครัวคือสมาชิกอยู่พร้อมหน้า

เรื่องราวของ แม่ก๋ำเดือน ยังไม่จบนะคะ  ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจ เรื่องภูมิปัญหาที่อยากแบ่งปันมาให้อ่าน

คุณผู้อ่านท่านใดเคยมีประสบการณ์..ก็มาแชร์เรื่องราวได้นะคะ

แอดเชื่อว่า ประสบการณ์ของทุกท่านเป็นประโยชน์กับทุกคน

#มูลนิธิสุขภาพไทย  #แม่ก๋ำเดือน  #คนท้อง   #สมุนไพรไทย   #อยู่ไฟ   #หมอตำแย  #ภูมิปัญญาคนเหนือ